วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1 เรื่อง ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกรีฑา




ประวัติของกรีฑาในต่างประเทศ
                ประวัติกรีฑาเริ่มมาพร้อมกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยโบราณของกรีฑา จัดขึ้น 4 ปีต่อครั้ง การจัดครั้งแรกในปี 776 ก่อนคริสต์ศักราช โดยกรีฑาเริ่มมีส่วนสำคัญโดยมีการวิ่งแข่งขันขึ้นมาก่อนเพื่อเป็นการบวงสรวงเทพเจ้าซีอุสให้ประชาชนแข็งแรงสมบูรณ์ ณ ลานเชิงเขาโอลิมปัส แคว้นอีลิส ต่อมาก็เพิ่มกีฬามากขึ้นอีก ได้แก่ การวิ่งแข่ง การกระโดด มวยปล้ำ พุ่งแหลน และขว้างจักร นักกีฬา 1 คนต้องแข่งขันทั้ง 5 ประเภท เหตุการณ์ดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลา 1,200 ปี จึงเริ่มเสื่อมลง
                ต่อมาก็เริ่มมีโอลิมปิกขึ้นมาใหม่ ในศตวรรษที่ 15 มีผู้ริเริ่มให้กีฬาโอลิมปิกฟื้นคืนสภาพขึ้นมาใหม่ คือ บารอน ปีแอร์ เดอร์กูเบอร์แตง ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส เป็นผู้ชักชวนบุคคลสำคัญของประเทศต่างๆ ร่วมประชุมเพื่อจัดการแข่งขันโอลิมปิกขึ้นมาใหม่ โดยแข่งขัน 4 ปีต่อครั้ง ครั้งแรกจัดขึ้นในประเทศกรีกในปี ค.ศ. 1896 (พ.ศ. 2439)
ประวัติของกรีฑาในประเทศไทย
                กรีฑาในประเทศไทยอาจจะมีการเล่นหรือการแข่งขันเพื่อความสนุกสนาน และอาจมีการสอนมานานแล้วแต่ไม่มีหลักฐานปรากฏเป็นที่แน่ชัด เท่าที่มีหลักฐานปรากฏดังนี้
                วันที่ 11 มกราคา พ.ศ. 2440 เป็นครั้งแรกที่ประทรวงธรรมการในขณะนั้น  (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาการ) ได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑาขึ้นที่สนามหลวง และได้ถวายบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทอดพระเนตรการแข่งขันกรีฑาของนักเรียนด้วย และกระทรวงธรรมการได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑาเป็นประจำทุกปี
                ต่อจากนั้นมีการแข่งขันกรีฑาโรงเรียน กำหนดให้จัดขึ้นในวันที่ 1 และ 2 มกราคมของทุกปี วันที่ 1 มกราคม เป็นวันแข่งขันกรีฑาโรงเรียนที่สนามโรงเรียนมัธยมราชบูรณะ (ปัจจุบันคือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย)

                การแข่งขัน แบ่งเป็น 2 ภาค คือ
                ภาคที่ 1 การแสดงกายบริหาร มีโหนราว ไต่บันไดโค้ง หกคะเมนบนหลังม้า หกคะเมนไม้คู่ หกคะเมนไม้เดี่ยว เล่นว่าว เล่นชิงช้า และหัดแถว
                ภาคที่ 2 เป็นการกวดกำลัง ชักเย่อ กระโดดสูง วิ่งข้ามรั้ว วิ่งเก็บของ กระโดดไกล วิ่งเร็วทาง 2 เส้น วิ่งสวมกระสอบ วิ่งทนทาง 10 ปิดตาหาทาง วิ่งสามขา วิ่งวิบาก
                และในปี พ.ศ. 2494 ได้ตั้งสมาคมกรีฑาสมัครเล่นแห่งประเทศไทยขึ้น มีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมและจัดการแข่งขั้นกรีฑาระดับเยาวชนและประชาชน และในปีนี้ได้เป็นสมาชิกสมาพันธ์กรีฑาสมัครเล่นนานาชาติ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับสมาคมกรีฑาสมัครเล่นแห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้ใช้ตราสมาคมกรีฑาฯ ได้
                จะเห็นได้ว่าการเล่นกรีฑาในประเทศไทยได้เริ่มขึ้นในรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440  เป็นต้นมาและมีการส่งเสริมการเล่นกรีฑา นอกจากกรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจะให้ความรู้ทักษะพื้นฐานและจัดการแข่งขันในระดับนักเรียนแล้ว ยังมีองค์กรอื่นๆ ที่ให้การส่งเสริม และมาตรฐานการเล่นกรีฑาทั้งระดับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้ถูกยกระดับขึ้นจนทัดเทียมนานาชาติ สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับนักกีฬาและนำเอากิจกรรมกรีฑามาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
ประเภทของกรีฑา แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่
1.  การแข่งขันประเภทลู่ (Track Events)

2.  การแข่งขันประเภทลาน (Field Events)




3.  การแข่งขันประเภทรวม (Combined Events Competitions)


4.  การแข่งขันเดิน (Race Walking)


5.  การแข่งขันบนถนน (Road Races)
6.   การแข่งขันวิ่งข้างทุ่ง (Cross Country Races)

ประเภทลู่  (Track Events) ที่จัดการแข่งขันทั่วไปมีรายการแข่งขัน ดังนี้
                ประเภทชาย                         วิ่ง                           100 เมตร              วิ่งข้าวรั้ว                110 เมตร
                                                                วิ่ง                           200 เมตร              วิ่งข้ามรั้ว                 400 เมตร
                                                                วิ่ง                           400 เมตร              วิ่งวิบาก                 3,000 เมตร
                                                                วิ่ง                           800 เมตร              วิ่งผลัด                  4 x 100 เมตร
                                                                วิ่ง                      1,500 เมตร            วิ่งผลัด                      4 x 400 เมตร
                                                                วิ่ง                      5,000 เมตร
                                                                วิ่ง                    10,000 เมตร
                ประเภทหญิง                       วิ่ง                           100 เมตร              วิ่งข้าวรั้ว                 110 เมตร
                                                                วิ่ง                           200 เมตร              วิ่งข้ามรั้ว                  400 เมตร
                                                                วิ่ง                           400 เมตร              วิ่งผลัด                4 x 100 เมตร
                                                                วิ่ง                           800 เมตร              วิ่งผลัด                 4 x 100 เมตร
                                                                วิ่ง                      1,500 เมตร           
                                                                วิ่ง        3,000 x 5,000 เมตร
                                                                วิ่ง                     10,000 เมตร

หมายเหตุ  การแข่งขันวิ่งวิบาก 3,000 เมตรหญิง กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการผลักดันให้มีการแข่งขัน
ประเภทลาน  (Field Events) ชายและหญิงเหมือนกัน
                                -  กระโดดไกล                                                                     -  ทุ่มน้ำหนัก
                                -  กระโดดสูง                                                                       -  ขว้างจักร
                                -  เขย่งก้าวกระโดด                                                             -  พุ่งแหลน
                                -  กระโดดค้ำ                                                                        -  ขว้างค้อน

ประเภทการแข่งขันประเภทรวม  (Combined Events Competitions)

                ประเภทชาย ได้แก่ ทศกรีฑา ประกอบด้วยการแข่งขัน 10 รายการ จัดการแข่งขัน 2 วันติดต่อกันตามลำดับ ดังนี้
                วันที่ 1 วิ่ง 100 เมตร กระโดดไกล ทุ่มน้ำหนัก กระโดดสูง วิ่ง 400 เมตร
                วันที่ 2 วิ่งข้ามรั้ว 110 เมตร ขว้างจักร กระโดดน้ำ พุ่งแหลน วิ่ง 1,500 เมตร

                ประเภทหญิง ได้แก่ สัตกรีฑา จัดการแข่งขัน 2 วันติดต่อกันตามลำดับ ดังนี้
                วันที่ 1 วิ่งข้ามรั้ว 100 เมตร กระโดดสูง ทุ่มน้ำหนัก วิ่ง 200 เมตร
                วันที่ 2 กระโดดไกล พุ่งแหลน วิ่ง 800 เมตร

หมายเหตุ  การแข่งขันทศกรีฑาของหญิง กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้มีการแข่งขันเหมือนกับประเภททศกรีฑาชาย ซึ่งคงจะเริ่มดำเนินการจัดได้เร็วๆ นี้เหมือนกับการวิ่งวิบาก 3,000 เมตรหญิง
ประเภทการแข่งขันเดิน  (Race Walking)
                มีการแข่งขันทั้งชายและหญิง คือ ระยะทาง 10 กิโลเมตร 20 กิโลเมตร และ 50 กิโลเมตร
ประเภทการแข่งขันบนถนน  (Road Races)
                ระยะทางมาตรฐานของประเภทชายและหญิงมีระยะทาง 15 กิโลเมตร 20 กิโลเมตร ระยะทางครึ่งมาราธอน (Half – marathon) 25 กิโลเมตร 30 กิโลเมตร มาราธอน (Marathon) 42.195 กิโลเมตร และวิ่งผลัดถนน (Road Relay)
ประเภทการแข่งขันวิ่งข้ามทุ่ง  (Cross Country Races)
                -  ประเภทชาย เส้นทางยาม 12 กิโลเมตร เส้นทางสั้น 4 กิโลเมตร
                -  ประเภทเยาวชนชาย 8 กิโลเมตร
                -  ประเภทหญิง เส้นทางยาว 8 กิโลเมตร เส้นทางสั้น 4 กิโลเมตร
                -  ประเภทเยาวชนหญิง 6 กิโลเมตร
                (งานวิชาการกองการฝึกอบรม การกีฬาแห่งประเทศไทย : 2545)
ประโยชน์ของกรีฑา

ประโยชน์ทางด้านร่างกาย
                1.  ทำให้ระบบการหมุนไหลเวียนโลหิต ระบบการหายใจ และกระบวนการย่อยสลาย เพื่อนำอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                2.  ช่วยให้มีความอดทนทำงานได้นานไม่ค่อยเหนื่อย ทำงานได้มากกว่าคนอื่นที่ไม่เล่นกีฬา
                3.  ช่วยให้มีความต้านทานโรค
ประโยชน์ทางจิตใจและอารมณ์
                1.  มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย
                2.  เกิดความสนุกสนาน เร้าใจ ตื่นเต้น
                3.  มีความมั่นใจ กล้าตัดสินใจ
                4.  ลดความเครียดจาการเรียนหรืออาชีพ
                5.  ร่างกายสดชื่น อารมณ์แจ่มใส

ประโยชน์ทางสังคม
                1.  ฝึกฝนให้อยู่ในระเบียบ กติกา
                2.  ฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม หมู่คณะ
                3.  รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
                4.  รู้จักเข้าสังคม โดยใช้กีฬาเป็นสื่อ

มารยาทของการเป็นผู้เล่นและผู้ดูกรีฑาที่ดี

มารยาทของการเป็นผู้เล่นที่ดี
                1.  ต้องศึกษาและเข้าใจในระเบียบ กฎ กติกาการแข่งขันอย่างถูกต้อง
                2.  ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกติกาการแข่งขันอย่างเคร่งครัด
                3.  แต่งการสุภาพ เรียบร้อย รัดกุม และปลอดภัย
                4.  นักกรีฑาที่ดีจะต้องมีกิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อย
                5.  รู้จัดประมาณความสามารถของตน
                6.  เล่นและแข่งขันด้วยชั้นเชิงของนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ และรู้ภัย
                7.  ยอมรับและเชื่อฟังคำตัดสินของผู้ตัดสิน
                8.  ไม่ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และผู้เล่นอื่น
                9.  ให้เกียรติผู้เข้าแข่งขันอื่น รวมทั้งผู้ตัดสินด้วย


มารยาทของการเป็นผู้ชมที่ดี
                1.  ปรบมือแสดงความยินดีต้อนรับผู้แข่งขันทุกคน ประปรบมือให้เกียรติแก่ผู้เล่นที่ดีทุกฝ่าย
                2.  ควรศึกษาและเข้าใจในระเบียบ กฎ และกติกาการแข่งขัน
                3.  ให้เกียรติและยอมรับคำตัดสินของผู้ตัดสิน
                4.  ไม่ควรเปล่งวาจาสนับสนุนผู้เล่นไปในทางที่ผิด
                5.  ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่
                6.  ไม่ควรรบกวนผู้แข่งขันหรือเจ้าหน้าที่
                7.  ไม่ควรส่งเสียงโห่ร้อง เยาะเย้ยผู้แข่งขันหรือเจ้าหน้าที่

การเล่นกรีฑาด้วยความปลอดภัย

                1.  ควรแน่ใจและมั่นใจว่าสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเองอยู่ในสภาพพร้อมที่จะรับการฝึกได้ ถ้าเป็นไปได้ควรได้รับการตรวจร่ายกายจากแพทย์ก่อน
                2.  ควรใช้เครื่องแต่งกายที่เหมาะสมรัดกุม
                3.  ก่อนทำการฝึกซ้อมหรือแข่งขันทุกครั้ง จะต้องอบอุ่นร่างกายให้เพียงพอ
                4.  ควรตรวจสภาพของสนามและอุปกรณ์ทุกชิ้นให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อยสมบูรณ์และปลอดภัย
                5.  การใช้อุปกรณ์ประกอบ เช่น รองเท้าวิ่งควรให้เหมาะสมกับสภาพสนาม
                6.  ระหว่างการฝึกซ้อมหรือแข่งขันต้องไม่กลั่นแกล้งหรือหยอกล้อกัน เพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
                7.  หากเกิดการบาดเจ็บขณะฝึกซ้อมหรือแข่งขัน ควรหยุดและให้แพทย์รักษาทันที

วิธีการบำรุงรักษาอุปกรณ์กรีฑา

                อุปกรณ์กรีฑามีทั้งของส่วนรวม เช่น รั้วกระโดด จักร ลูกทุ่มน้ำหนัก แหลน เป็นต้น และอุปกรณ์ที่เป็นของส่วนตัว เช่น รองเท้า ที่ยัดเท้า เป็นต้น ดังนั้น จึงควรช่วยกันบำรุงรักษาอุปกรณ์กรีฑา คือ
                1.  ก่อนใช้ต้องตรวจสอบอุปกรณ์ทุกชนิดให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีและปลอดภัย ไม่ควรนำอุปกรณ์ที่ชำรุด
ไปใช้
                2.  ควรใช้อุปกรณ์ให้ถูกต้องตามชนิดและประเภทของอุปกรณ์แต่ละชนิด
                3.  เมื่อนำอุปกรณ์ออกไปใช้แล้ว ก่อนเก็บควรสำรวจตรวจสอบจำนวนและสภาพเรียบร้อยของอุปกรณ์ และทำความสะอาด
                4.  ควรมีที่เก็บอุปกรณ์แต่ละประเภทไว้เป็นสัดส่วนในที่ที่เหมาะสมและเป็นระเบียบ
                5.  อุปกรณ์ส่วนตัวควรทำความสะอาดทุกครั้งที่ใช้งานเสร็จ
                6.  เมื่ออุปกรณ์เกิดชำรุดควรรีบซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยโดยเร็ว และถ้าเกิดชำรุดมากก็ไม่ควรนำออกมาใช้งาน
                7.  ควรเก็บอุปกรณ์ไว้ในที่เหมาะสม แยกประเภทเพื่อความสะดวกในการเก็บรักษาและนำไปใช้ในโอกาสต่อไป
8.  เสากระโดดสูงและไม้พาดกระโดดสูง เมื่อใช้แล้วควรเก็บให้เป็นที่เพราะอาจล้มแตกหักได้ง่าย
                9.  ไม่ควรขว้างจักรไปถูกของแข็งอย่างอื่นนอกจากพื้นสนามหญ้า เพราะจักรจะแตกได้ง่าย
            10.  ควรมีระเบียบในการเบิกจ่ายอุปกรณ์ไปใช้ในการฝึกซ้อม เพื่อจัดระบบในการควบคุมดูแล
 
แบบทดสอบเรื่อง ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกรีฑา
รหัส-ชื่อวิชา พ.30213 กรีฑา 1 (เพิ่มเติม) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
เรื่อง ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกรีฑา
ครูพิทักษ์ หวนสุริยา โรงเรียนพรตพิทยพยัต
คำสั่ง เลือก หรือ เติมคำตอบที่ถูกต้องที่สุด

ข้อที่ 1)
ความหมายของกรีฑาคืออะไร
   กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพ
   กิจกรรมการเล่นเป็นรายบุคคล
   กิจกรรมการออกกำลังกายชนิดหนึ่ง
   กิจกรรมประเภทการวิ่ง ขว้าง พุ่ง กระโดด

ข้อที่ 2)
การแข่งขันกันในเชิงกรีฑาได้กำเนิดครั้งแรกของโลกที่ประเทศใด
   กรีซ
   โรมัน
   อังกฤษ
   ฝรั่งเศส

ข้อที่ 3)
ก่อนการเล่นกีฬาทุกครั้งควรปฏิบัติอย่างไร
   ฝึกสมาธิ
   บำรุงร่างกาย
   อบอุ่นร่างกาย
   พักผ่อนให้มากๆ

ข้อที่ 4)
ข้อใดไม่ใช่ประโยชน์ของการเล่นกรีฑาที่มีต่อร่างกาย
   ช่วยระบายความตึงเครียด
   ช่วยให้ร่ายกายมีความอดทน
   ช่วยระบายพลังงานส่วนเกิน
   ช่วยให้ร่างกายมีความต้านทานโรค

ข้อที่ 5)
ผู้ดูที่ดีควรปฏิบัติตนอย่างไร
   ควรให้เกียรติผู้แข่งขันและผู้ตัดสิน
   ไม่ควรรบกวนผู้แข่งขันหรือเจ้าหน้าที่
   ไม่ควรเย้ยหยัดผู้แข่งขันหรือเจ้าหน้าที่
   ไม่จำเป็นต้องรู้กติกาการแข่งขันเป็นอย่างดี

ข้อที่ 6)
สื่อในการเรียนการฝึกกรีฑาปัจจุบันนิยมอะไรมากที่สุด
   วิดีทัศน์
   หนังสือคู่มือ
   ภาพประกอบ
   อุปกรณ์การฝึก

ข้อที่ 7)
นักกรีฑาที่มารยาทดีมีลักษณะอย่างไร
   นิสัยร่าเริงแจ่มใส
   โมโหและประท้วง
   ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง
   ยอมรับการตัดสินและแสดงความยินดีแก่ผู้ชนะ

ข้อที่ 8)
นักกรีฑาควรบำรุงรักษาสุขภาพของตนเองอย่างไร
   กินอิ่มนอนหลับ
   รับประทานโปรตีนมากๆ
   รับประทานอาหารครบ 5 หมู่
   กินผักสดและผลไม้สดทุกวัน

ข้อที่ 9)
ข้อใดไม่ใช่ผลดีที่เกิดจากการรู้จักใช้ การเก็บรักษา และการดูแลอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพดี
   สะดวกในการจัดซื้อจัดหา
   เกิดความปลอดภัยในการใช้
   ใช้ได้นานมีประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด
   ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดหา

ข้อที่ 10)
ควรปฏิบัติในการเก็บรักษาอุปกรณ์กรีฑาไว้อย่างไร
   เก็บไว้ในที่เหมาะสม
   เก็บไว้ในที่อากาศชุ่มชื้น
   เก็บอุปกรณ์ทุกชิ้นรวมกันไว้
   เก็บอุปกรณ์โดยแยกประเภทกันไว้